บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

โครงสร้างอนัตตลักขณสูตร

หลังจากที่ทรงสอนพระปัจจวัคคีย์จนมีดวงตาเห็นธรรมครบทุกรูปแล้ว พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนอนัตตลักขณสูตร 

เมื่อได้รับฟังอนัตตลักขณสูตรแล้ว พระปัจจวัคคีย์จึงบรรลุพระอรหันต์

พระสูตรที่เกี่ยวกับ “ลักษณะของอนัตตา” นั้น มีอยู่ในพระไตรปิฎก 2 แห่งคือ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑  ตรงนี้คือ “อนัตตลักขณสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ตรงนี้คือ “ปัจจวัคคิยสูตร

เนื้อหาทั้ง 2 แห่งนั้น กล่าวถึงเหตุการณ์เดียวกันคือ เหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรให้พระปัจจวัคคีย์

อนัตตลักขณสูตรแบ่งออกได้เป็น 5 ตอน ดังนี้

ตอนที่ ๑

พระพุทธองค์ทรงสอนว่า รูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณเป็นอนัตตา  ใน“ปัจจวัคคิยสูตร” จะแปลเป็น รูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ ไม่ใช่ตัวตน

ข้อความที่ว่า “เป็นอนัตตา” กับ “ไม่ใช่ตัวตน” นั้น ความหมายก็เหมือนกัน  แต่ในความเห็นของผม ข้อความ “ไม่ใช่ตัวตน” จะให้ความหมายที่ชัดเจนกว่า เพราะ แปลเป็นภาษาไทยล้วนๆ ไม่มีการทับศัพท์

เหตุผลของการที่ รูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ หรือ ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวตน ก็เพราะว่า ยังป่วยได้ บังคับให้เป็นไปตามความต้องการของเราไม่ได้

ตอนที่ ๒ 

พระพุทธองค์ตรัสถามพระปัจจวัคคีย์เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?

ตอนที่ ๓ 

พระพุทธองค์ทรงสรุปว่า

เธอทั้งหลายพึงเห็นรูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า

นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรานั่นไม่ใช่ตนของเรา.

ตอนที่ ๔ 

พระพุทธองค์ทรงแสดงผลที่เกิดขึ้นจากการฟังอนัตตลักขณสูตร ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก ผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขารทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้นเมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว

อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า  ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้วกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

ตอนที่ ๕

พระธรรมสังคาหกาจารย์ หรือ พระอาจารย์ผู้ทำสังคายนาร้อยกรองตั้งเป็นพระบาลีไว้ ได้กล่าวไว้ในตอนท้ายพระสูตรว่า

เมื่อท่านทั้ง ๕ ได้สดับสูตรนี้จบแล้ว ก็มีใจปีติโสมนัสแนบแน่น จิตของท่านของทั้ง ๕ ก็พันจากอาสวกิเลส คือได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้ง ๕ รูป

สิ่งที่ควรจะใคร่ครวญหลังจากการอ่านอนัตตลักขณสูตรแล้วก็คือ

1- รูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณหรือขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวตน แล้วอะไรคือตัวตน

2- ข้อความที่ว่า

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?

ข้อความดังกล่าวนั้น ตีความได้ว่า สิ่งที่ตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ ไม่ใช่ตัวตนของเรา แล้วตัวตนของเราคืออะไร

3) ข้อความที่ว่า

เธอทั้งหลายพึง เห็น รูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรานั่นไม่ใช่ตนของเรา.

คำว่า “เห็น” นั้น เห็นอย่างไร ใช้อะไรในการเห็น

4) ข้อความที่ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก ผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขารทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ

ข้อความ “อริยสาวก ผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้” แสดงว่า พระปัจจวัคคีย์ฟังคำเทศนาของพระพุทธองค์ไป และเห็นไปด้วยในขณะเดียวกัน ใช่หรือไม่..





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น